ในปี พ.ศ. 2555 มูลนิธิฯ ได้รับแจ้งว่ามีนกยูงไทยฝูงใหญ่ หากินและอาศัยอยู่ในพื้นที่ไร่นา ติดแนวเขตป่าสงวน ในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มูลนิธิฯ จึงได้เข้าสำรวจพื้นที่แล้วพบว่า เป็นนกยูงไทย ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ท่านได้เลี้ยงไว้เมื่อครั้งเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน หลังจากที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มรณภาพ นกยูงไทยที่ท่านเลี้ยงไว้ได้ขยายพันธุ์ และกระจายไปในป่าเป็นจำนวนมากในเวลาต่อมา
มูลนิธิฯ จึงได้จัดทำโครงการศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์นกยูงไทยในถิ่นกำเนิด โดยได้รับความกรุณาจาก ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของมูลนิธิฯ จัดงาน “มยุราภิรมย์” ขึ้น ณ วังสวนผักกาด เพื่อระดมทุนจัดซื้อที่ดินเพื่อดำเนินงานโครงการจำนวน 58 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และเริ่มดำเนินงานโครงการขึ้นในปี พ.ศ. 2556
แม้ว่านกยูงไทยชอบอาศัยบนต้นไม้สูงในป่า แต่จะลงมาหากิน และรำแพนหางเพื่อการผสมพันธุ์ในพื้นที่ราบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ทำนาข้าว และไร่ข้าวโพด ที่มีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในการทำการเกษตร ซึ่งอาจทำให้นกยูงได้รับอันตรายได้ นอกจากนกยูงจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดปราศจากสารเคมีในช่วงฤดูแล้งแล้ว ไฟที่เกิดจาการเผาแผ้วถางป่ายังทำให้เกิดความสูญเสียตามมาด้วย
กิจกรรมการดำเนินงานโครงการได้เริ่มต้นโดยการปลูกต้นไม้ สร้างแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งน้ำสะอาด ปลอดสารเคมี เพื่อให้นกยูงและสัตว์ป่าอื่นๆ มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย มีแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ตลอดปี นอกจากนี้ การปลูกพืชอาหารสัตว์ การป้องกัน และการดับไฟที่จะเข้าทำลายพื้นที่จึงเป็นภารกิจหลักที่ต้องปฏิบัติ
มูลนิธิฯ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์นกยูงไทยในถิ่นกำเนิด เพื่อเฝ้าติดตามเก็บข้อมูลของนกยูงไทยในพื้นที่ รวมถึงข้อมูลการกลับคืนสู่ถิ่นของสัตว์ป่าอื่นๆ ตลอดจนการปกป้อง ดูแลรักษา และฟื้นฟูพื้นที่โครงการ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมากับการปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่โครงการ รวมถึงการสร้างความอุดมสมบูรณ์ของพืชอาหาร และแหล่งน้ำที่ปลอดภัยจากสารพิษ ทำให้สัตว์ป่าหลากหลายชนิดเริ่มกลับคืนสู่ระบบนิเวศน์
เป้าหมายของมูลนิธิฯ นอกจากจะให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์นกยูงไทยในแหล่งธรรมชาติให้คงอยู่แล้ว มูลนิธิฯ ต้องการสร้างพื้นที่โครงการให้เป็น “ศูนย์การฟื้นฟูธรรมชาติและสัตว์ป่า” ให้เกิดประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิเช่น อาคารอเนกประสงค์ “ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ห้องสมุด “รักษ์มยุรี” ซุ้มบังไพรสำหรับดูนกยูง ลานกางเต้นท์ ห้องน้ำ การติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบน้ำสะอาดสำหรับนักท่องเที่ยว
การดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์นกยูงไทยในถิ่นกำเนิด และศูนย์การฟื้นฟูธรรมชาติและสัตว์ป่า ยังคงต้องการความช่วยเหลือจากท่านผู้บริจาค เพื่อให้เป้าหมายการสร้างพื้นที่ 58 ไร่นี้ เป็นพื้นที่ที่มีระบบธรรมชาติที่สมบูรณ์และสมดุล ไม่เพียงแต่จะอนุรักษ์นกยูงไทยที่จะรำแพนแพร่ขยายพันธุ์เท่านั้น แต่สัตว์ป่าน้อยใหญ่จะได้กลับคืน และอาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์