มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์

มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2526 โดย นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้บุกเบิกงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์

มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535   กำหนดนโยบายในการดำเนินงานโดยคณะกรรมการ  โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากการบริจาคของประชาชน องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ  ซึ่งหลักฐานใบเสร็จรับเงินสามารถนำไปขอลดหย่อนภาษีได้

ระยะแรกของการดำเนินงาน มุ่งเน้นไปในการทำความเข้าใจต่อสาธารณะถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการจัดทำโครงการศึกษาธรรมชาติ ซึ่งมูลนิธิฯ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการพาสื่อมวลชนและกลุ่มบุคคลเข้าศึกษาในพื้นที่ธรรมชาติในลักษณะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อสร้างจิตสำนึกและสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญและคุณค่าของป่าไม้ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม  ในขณะเดียวกันได้จัดทำโครงการอื่นๆ อีกหลากหลาย เช่น โครงการอนุรักษ์ร่วมกับชุมชนในพื้นที่เพื่อหาทางหยุดยั้งการทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติหลายแห่งในจังหวัดนครราชสีมา บริเวณรอบเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในอำเภอนาดี  อำเภอท่าวังไทร อำเภอปักธงชัย เป็นต้น  นอกจากนี้ได้ขยายงานโครงการไปยังพื้นที่ที่สำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศ เช่น โครงการเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ  โครงการเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าของชุมชนในภาคตะวันตก  โครงการเพื่อการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและการกลับคืนสู่ถิ่นของสัตว์ป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และโครงการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลภาคใต้

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 จนปัจจุบัน  มูลนิธิฯ ได้เล็งเห็นว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับเทคโนโลยีในด้านการสื่อสารพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้การอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ได้รับการตระหนัก   ตื่นตัว และมีส่วนร่วมช่วยปกป้องและรักษาจากทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะเพียงแต่ในประเทศ แต่มีการเชื่อมโยงกันทั่วโลก    ปัจจุบันนี้มีหน่วยงาน องค์กร และบุคคลทั่วไป ที่เข้าใจและดำเนินงานร่วมกันปกป้องทรัพยากรของชาติกันอย่างกว้างขวางทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก

มูลนิธิฯ ในฐานะองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร (NGO) จำเป็นต้องพัฒนารูปแบบของการดำเนินงานจากเดิมเป็นผู้รณรงค์ ผู้ให้ข้อมูล  และหาแนวทางแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของไทยในรูปแบบโครงการและกิจกรรมรณรงค์อย่างหลากหลาย  มาเป็นการดำเนินงานฟื้นฟูระบบธรรมชาติโดยปฏิบัติการในพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งขณะนี้มูลนิธิฯ กำลังดำเนินงานฟื้นฟูระบบธรรมชาติในพื้นที่จำนวน 58 ไร่ ณ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน  ซึ่งมีพัฒนาการคืบหน้าไปเป็นลำดับ

มูลนิธิฯ มุ่งมั่นที่จะรักษาระบบธรรมชาติให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์และสมดุล ภายใต้ปรัชญา “ธรรมชาติอยู่ได้ ชาติอยู่ได้”  (NATURE lives  NATION lives)  โดยการมีส่วนร่วมในการทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งในถิ่นกำเนิด (In-situ Conservation) และนอกถิ่นกำเนิด (Ex-situ Conservation) รวมถึงการมีส่วนร่วมในการนำสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติ มูลนิธิฯ จะสนับสนุนแนวทางในการการจัดพื้นที่เพื่อเป็นที่อยู่และขยายพันธุ์สัตว์และพืช เพื่อการอยู่รอดและอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและเอื้อประโยชน์ระหว่าง คน ป่าไม้ และสัตว์ป่า เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชหายาก โดยเฉพาะสัตว์และพืชประจำถิ่นบางชนิด การช่วยเหลือสัตว์ป่าในกรณีฉุกเฉิน เฉพาะหน้า เช่น สัตว์ป่าที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และปัญหาจากการพัฒนาพื้นที่ที่เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าหรือพืชป่ามาแต่เดิม คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่มีความเชื่อมั่นว่า เป้าหมายที่จำเพาะเจาะจงมากขึ้นนี้ จะเหมาะสมกับจำนวนทุนและจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนอนาคตและความสำเร็จขององค์กรนั้น ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนและความไว้วางใจที่เราจะได้รับจากทุกภาคส่วนของสังคมไทยและสังคมโลก